Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคการสอนลูกให้หาเพื่อนใหม่และการปรับตัว เมื่อต้องเข้าเรียน ป.1

Posted By Plook TCAS | 25 ก.ค. 66
964 Views

  Favorite

         การหาเพื่อนใหม่ในโรงเรียนและการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน คงไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปสำหรับเด็กน้อย ป. 1 เด็กที่ช่างพูดช่างคุยอาจไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเจ้าตัวเล็กก็จ้อกับเพื่อน ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่เด็กที่ไม่ช่างพูด เก็บตัว ขี้อาย อาจอึดอัดใจ ไม่รู้จะเริ่มต้นคุยกับเพื่อนอย่างไร ลูกจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะในการหาเพื่อนและการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน และเราต้องมีเทคนิคในการสอนลูกให้รู้จักทักษะนี้และปฏิบัติได้จริง เพื่อให้ลูกรู้จักการเข้าสังคม และอยู่ได้อย่างมีความสุขกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่  5 เทคนิคง่าย ๆ สำหรับสอนลูกรักคือ

1. สอนลูกให้มีทัศนคติที่ดีกับการมีเพื่อน

         ทัศนคติที่ดีในทุกด้านเป็นเรื่องสำคัญสำหรับลูก โดยเฉพาะเรื่องการมีเพื่อน ซึ่งจะทำให้ลูกมั่นใจมากขึ้น ปรับตัวได้ง่ายขึ้น สนุกกับโรงเรียนมากขึ้น และมีผลดีต่อชีวิตการเรียนของลูก เราควรพูดคุยกับลูกให้มองว่าการมีเพื่อนเป็นเรื่องสนุก ได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และได้เรียนรู้จากคนเหล่านั้น เมื่อลูกเติบโตขึ้น การแสวงหาและการมีกัลยาณมิตรจะเอื้อประโยชน์ต่อชีวิตและหน้าที่การงานมากขึ้น ถือเป็นอีกทักษะหนึ่งในการเอาชีวิตรอดขั้นพื้นฐานที่ลูกเราต้องเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก และหากลูกมีข้อกังวลใด ขอให้เล่าให้เราฟังเป็นคนแรก การพูดคุยกับลูกทำให้เรารู้ว่าลูกมีเพื่อนหรือไม่ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและเด็กคนอื่น ๆ ในห้องเรียนดีเพียงใด และลูกใช้เวลากับเพื่อนที่คุ้นเคยอย่างไร

2. รู้จักสร้างและสืบสานมิตรภาพ

เราควรสอนลูกให้ทักทายเพื่อนด้วยการแนะนำตัวและถามชื่อเพื่อน เมื่อรู้จักกันแล้ว เรียกชื่อเพื่อนด้วยชื่อเล่นจะสร้างความรู้สึกสนิทสนมและเป็นกันเองมากขึ้น ชวนเพื่อนคุย เช่นถามว่าที่บ้านมีสัตว์เลี้ยงแสนรักเหมือนที่บ้านหนูหรือเปล่า เพราะการมีความสนใจร่วมกันและมีกิจกรรมเหมือนกัน จะทำให้มีเรื่องพูดคุยกันได้บ่อยขึ้นและมากขึ้น แบ่งขนมให้เพื่อน ให้เพื่อนขอยืมหนังสือนิทานแสนสนุกไปให้แม่อ่านให้ฟังที่บ้าน ไปกินอาหารกลางวันที่โรงอาหารด้วยกัน จูงมือกันไปเดินเล่นที่สนาม หรือเล่นเครื่องเล่นด้วยกันร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ผลัดกันเล่น แบ่งกันเล่น เล่นด้วยกัน ผลัดกันพูดคุย ไม่ใช่แย่งซีนพูดคนเดียว

3. ส่งเสริมให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรมหลังเลิกเรียน หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรของโรงเรียน

         เราควรให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมหลังเลิกเรียน เช่น ติวพิเศษ อ่านหนังสือ หรือทำการบ้านด้วยกันโดยไม่ลอกกัน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้น เช่น กีฬา ศิลปะ นาฏศิลป์ การเข้าร่วมกลุ่มทำให้ลูกมีเพื่อนมากขึ้น ได้พูดคุยกันอย่างสนุกสนานในกิจกรรมเดียวกัน และสร้างเสริมเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มเพื่อน

4. เรียนรู้ลักษณะนิสัยของเพื่อนเพื่อการปรับตัว

         สอนลูกให้รู้จักลักษณะนิสัยของเพื่อน คนไหนควรเข้าใกล้ คนไหนควรสนิทหรือไม่สนิทด้วย เพื่อนคนไหนที่ทำดีกับลูก ลูกก็ควรทำดีตอบและมีน้ำใจให้กัน มีของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ จากที่บ้านไปให้เพื่อนเป็นการผูกมิตร รู้จักการแบ่งปันแบบเด็ก ๆ ให้ลูกรู้จักการถนอมน้ำใจเพื่อนด้วยการพูดจาดี ๆ กับเพื่อน ไม่เจ้าอารมณ์ เราควรเตือนใจลูกของเราให้เป็นคนใจดี มีเมตตา เป็นมิตรกับผู้อื่น ลูกก็จะได้สิ่งดี ๆ นั้นตอบสนอง แต่ถึงอย่างไรเราต้องสอนลูกให้เป็นตัวของตัวเองในทางที่เหมาะสม ไม่ต้องเอาใจคนอื่นมากเกินไปเพียงเพื่อจะได้มีเพื่อน  

5. สร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนผู้ปกครอง 

         เราควรทำความรู้จักกับผู้ปกครองของเพื่อนลูกที่ลูกเราสนิทสนม เพื่อทำให้มิตรภาพแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งในระดับเด็กและผู้ใหญ่ ได้พูดคุยกันถึงความสนใจและการพัฒนาในการเรียนของลูกของทั้งสองฝ่าย ได้ปรึกษาหารือกันช่วยกันคิดช่วยกันแก้หากลูก ๆ มีปัญหา รวมทั้งไปร่วมงานหรือกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นด้วยกัน

         โดยธรรมชาติ เด็กสามารถหาเพื่อนใหม่และปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ในโรงเรียนได้ในแบบของตนเอง เราควรพูดคุยกับลูก ให้เวลาลูก สังเกตพฤติกรรมของลูก แล้วค่อย ๆ ปรับแต่งเจ้าตัวเล็กของเราไปเรื่อย ๆ ไม่นานลูกจะมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนมาเล่าให้เราฟังได้โดยไม่ซ้ำกัน บางเรื่องทำให้เราได้หัวเราะขำ บางเรื่องทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดของเจ้าตัวน้อยทั้งหลาย และบางเรื่องเราอาจได้ข้อคิดไว้สอนลูกของเรา และให้ลูกบอกต่อเพื่อน ๆ เป็นการฝึกการสื่อสารที่ดีและการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องของลูก ข้อสำคัญคือหากลูกเป็นเด็กขี้อาย ก็ไม่ต้องกดดันลูก ให้การฝึกฝนแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเพิ่มความพร้อมให้ลูก ในที่สุดทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทางได้ การหาและการมีเพื่อนซี้เป็นพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ และจิตใจ เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะอยู่คู่กับลูกเราตลอดไป ลูกจะเห็นประโยชน์ได้ชัดเจนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และมีหน้าที่การงานหลากหลายขึ้น

 

ณัณท์

 

ข้อมูลอ้างอิง     

Making friends in primary school can be tricky. Here’s how parents and teachers can help https://theconversation.com/making-friends-in-primary-school-can-be-tricky-heres-how-parents-and-teachers-can-help-107609  

Help your child in Grade 1 make new friends at school  https://lowvelder.co.za/718436/help-your-child-in-grade-1-make-new-friends-at-school/   

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow